รูปแบบการศึกษาออนไลน์

การปฏิวัติและเปลี่ยนผ่านไปสู่การศึกษายุคใหม่

ในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ที่รุนแรง สถาบันการศึกษาหลายแห่ง ต่างต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพราะด้วยมาตรฐานการป้องกันโรคที่ยกระดับขึ้น ทำให้สถานศึกษาหลายแห่งต้องปิดทำการเรียนการสอนเป็นการชั่วคราว และต้องใช้รูปแบบการเรียนการสอนอื่น เข้ามาทดแทนการเรียนการสอนที่มีอยู่ตามปกติ

จากสถานการณ์นี้ทำให้ทั้งครูผู้สอนและนักเรียน จำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัวอย่างมาก โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารออนไลน์เข้ามาช่วยเหลือและขับเคลื่อนการศึกษา ให้สามารถดำเนินการไปได้ ท่ามกลางการหยุดชะงักของระบบการศึกษา ซึ่งสิ่งนี้เสมือนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เราทุกคนจะต้องก้าวไปสู่โลกของการศึกษาแห่งอนาคตที่ใช้ประโยชน์จากโลกออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสถาบันการศึกษาใดที่มีศักยภาพและความพร้อมที่ดีกว่า ก็จะได้เปรียบในเรื่องของการปรับตัว ในขณะที่อีกหลายสถาบันกลับประสบปัญหาของการขาดแคลน ซึ่งต้องการได้รับการเยียวยาและช่วยเหลือ เพื่อที่อย่างน้อยสามารถที่จะเริ่มต้นการศึกษาออนไลน์อย่างเป็นรูปธรรม

แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าการศึกษาออนไลน์จะเป็นแค่ส่วนหนึ่งในวิธีการศึกษาที่ได้มีการหยิบยกขึ้นมาใช้ ควบคู่กับรูปแบบการให้การศึกษาอื่น ๆ แต่ทุกคนต่างยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า การศึกษาออนไลน์นั้น เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงและให้ความสำคัญมากกว่า และถึงแม้ว่าในมุมมองของ ครูผู้สอน ผู้ปกครอง หรือแม้แต่ตัวของผู้เรียนเองจะฟันธงว่าการศึกษาออนไลน์ที่ดำเนินการมาตลอดหนึ่งภาคเรียนนั้น เทียบไม่ได้กับการเรียนตามปกติในชั้นเรียนก็ตาม แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธว่ามันยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสถานการณ์ในตอนนี้

ด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วบวกกับความใหม่ของรูปแบบการศึกษาออนไลน์ คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้หลายคนมองการศึกษาออนไลน์เป็นความล้มเหลว แต่ถ้ามองในมุมมองที่ใหญ่ขึ้น เราจะเห็นว่าการศึกษาออนไลน์นั้นได้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลกับการศึกษาของโลกมานานแล้ว ซึ่งสถาบันการศึกษาหลายแห่ง โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา ได้มีการจัดทำแพลทฟอร์มเพื่อการเรียนออนไลน์สำหรับให้นักเรียนและนักศึกษาเรียนรู้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่สถาบัน ทำให้นักเรียนและนักศึกษาสามารถเรียนรู้จากที่ไหนก็ได้บนโลก ซึ่งเทคโนโลยีนี้ทำให้โลกของการศึกษานั้นเข้าถึงได้ง่ายดายและใกล้ชิดกันมากขึ้น และกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ

มันจึงไม่ใช่เรื่องที่ล้มเหลวไปเสียทั้งหมด แต่กลับกัน มันคือจุดเริ่มต้นที่ดีที่ประเทศไทยจะได้มีความพยายามในการเริ่มต้นและผลักดันให้เกิดการศึกษาออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในทุกระดับ เพราะในอนาคตเราอาจจะต้องรองรับกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาใหม่ ๆ ที่เข้ามาในรูปแบบของการศึกษาออนไลน์ ซึ่งถ้าเราไม่ตื่นตัวในเรื่องนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็ยากที่จะปรับตัวตามกระแสการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ทัน

เรื่องนี้ ศ.ดร.เคิร์ท บองก์ ศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยาและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา และประธาน CourseShare.com ได้มีการกล่าวถึง 3 เทรนด์เทคโนโลยีที่จะเข้ามาปฏิวัติการศึกษาไว้ ในงานสัมมนาดิจิทัลคอนเทนต์ Bangkok International Digital Content Festival (BIDC2021) ภายใต้หัวข้อ Technology Today, Technology Tomorrow: Learning Evolutions ซึ่งได้แก่

1. เทคโนโลยีสำหรับการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (learning engagement)
จากนี้ไปเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลต่าง ๆ จะเข้ามามีบทบาทในการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยช่วยให้ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้ ผ่านการปฏิบัติจริง มีการใช้เกมในรูปแบบเสมือนจริง โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(AI) และเทคโนโลยีผสานโลกเสมือนจริงเข้ากับโลกความจริง (AR และ VR) มาเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ (game-based) ผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ เช่น สมาร์ทโฟน หรือ แท็บเล็ต ซึ่งสามารถสร้างให้เกิดการทำงานร่วมกัน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันได้ โดยที่ผู้เรียนไม่จำเป็นจะต้องเรียนอยู่ในห้องเรียนเดียวกัน

เทคโนโลยีผสานโลกเสมือนจริง

2. เทคโนโลยีเพื่อการเข้าถึงอย่างทั่วถึง (pervasive access)
มีแนวโน้มที่การจัดการเรียนการสอนจากแหล่งเรียนรู้ออนไลน์นั้น จะมีเพิ่มมากขึ้น ทั้งในรูปแบบที่ลงทะเบียนเรียนและแบบที่ไม่มีค่าใช้จ่าย สิ่งนี้ได้สนับสนุนให้ผู้เรียนจากที่ต่าง ๆ สามารถที่จะเข้าเรียนพร้อมกันได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้บุคคลทั่วไป แม้ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหนหรือเป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ถ้าสามารถเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตได้ ก็สามารถที่จะศึกษาเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญโดยตรงไปพร้อมกับคนทั่วโลกได้ ​

3. เทคโนโลยีสำหรับการปรับให้เป็นส่วนตัวและปรับแต่งการเรียนรู้ (customization)
เมื่อทุกอย่างสามารถดำเนินการได้ผ่านระบบออนไลน์ เทคโนโลยีสมัยใหม่นั้นจะส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถที่จะปรับแต่งรูปแบบการเรียนรู้ได้ตามความต้องการของตัวผู้เรียนเอง ซึ่งสิ่งนี้เป็นเสมือนสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ผู้เรียนนั้นเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้อย่างแท้จริง โดยผู้เรียนนั้นสามารถเรียนรู้แบบผสมผสานระหว่างการเรียนแบบออนไลน์ควบคู่กับออฟไลน์ รวมถึงสามารถที่จะประเมินผลการเรียนรู้ในรูปแบบที่ผสมผสานได้อีกด้วย ซึ่งหัวใจสำคัญสำหรับในเรื่องนี้ก็คือ การที่ผู้เรียนนั้นสามารถเลือกได้ว่าจะเรียนอย่างไรก็ได้ตามจุดประสงค์ของตัวเองนั่นเอง

และนับจากนี้ไป รูปแบบของการศึกษาทั่วโลกจะเริ่มมีการปฏิวัติและเปลี่ยนผ่านไปสู่การศึกษายุคใหม่ที่เป็นโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่กล่าวเกินจริงแต่อย่างไร และไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดจากสถานการณ์ในตอนนี้ แต่เป็นสิ่งที่สั่งสมมานานแล้วตั้งแต่เริ่มก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งสถาบันการศึกษาหลายแห่งเริ่มปรับตัวให้รองรับ ผู้เรียนที่เป็น Digital student มากขึ้น เพราะมองว่าในอนาคตการเรียนจะไม่ได้มีแค่ในชั้นเรียนอีกต่อไป แต่สามารถที่จะขยายการเรียนรู้ไปได้ทั่วโลกด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารออนไลน์ที่มีการพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ มันจึงเป็นตลาดที่กว้างกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้มาก

และในอนาคต การแข่งขันทางด้านการศึกษาจะมีรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าสถาบันการศึกษานั้นจะอยู่ส่วนไหนของโลกก็ตาม ก็มีโอกาสที่จะมีผู้สนใจเรียนเพิ่มมากขึ้นได้ ถ้ามีหลักสูตรและแนวการเรียนรู้ที่น่าสนใจมากพอ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านการเดินทางอีกต่อไป มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราทุกคนจะต้องรับรู้และเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างเหมาะสม ไม่ใช่ถูกปล่อยให้ล้าหลัง เพราะขาดทักษะทางด้านการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ sans-logique.com

 

Releated